#ถอดองค์ความรู้ #พิธีการปลงศพแบบล้านนา ❖ อัตลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีเชิงพุทธ ที่ปรากฎในพิธีศพล้านนา สวดสียา,ทอดผ้าบังสุกุล,ตุงสามหาง,ถุงข้าวด่วน,บอกไฟ, บ้องไฟ,ปราสาทศพ,พระสงฆ์บนเสลี่ยง,สวดถอน,สังคหะเฮือนเย็นฯลฯ ❖ การส่งสะก๋าน (พิธีกรรมเกี่ยวกับการปลงศพ) เป็นพิธีกรรมอันประณีตบรรจงของชาวล้านนา ซึ่งทำสืบต่อกันมาอันสะท้อนให้เห็นภาพความเป็นอยู่ ความนึกคิด ความเชื่อถือ ศิลปะแห่งการตกแต่งและลักษณะสถาปัตยกรรม โบราณจารย์ได้กำหนดพิธีการ เครื่องใช้ไม้สอยและเครื่องประกอบต่าง ๆ ไว้อย่างงดงามและสอดคล้องกันอย่างมีเหตุผล #ถอดองค์ความรู้ ❖ ปริศนาธรรมพิธีกรรมงานศพ ๑. #การสวดสียา บทสวดสิยา เป็นบทสวดของเก่าโบราณ ที่พระสงฆ์ใช้ในงานสวดอภิธรรมศพ ในเขตล้านนาแต่เดิม สมัยแต่ก่อนไม่มีสวดอภิธรรมแบบในปัจจุบัน พระสงฆ์จะใช้การสวดสิยาทั้งหมด สวดสิยาในสมัยก่อนนั้นมีทุกวัด ปัจจุบันหาฟังได้ยากแล้ว ๒. #ทอดผ้าบังสกุล การทอดผ้าบังสุกุล เป็นการทำบุญอุทิศกุศลให้แก่ผู้ล่วงลับ โดยทอดวางผ้าไตรจีวร หรือผ้าผืนใดผืนหนึ่งในบรรดาผ้าไตรจีวรแด่พระสงฆ์ เพื่อให้ท่านพิจารณานำไปใช้ ซึ่งในงานฌาปนกิจ จะมีการใช้ภูษาโยงหรือด้ายสายโยง (สายสิญจน์) โยงจากโลงศพ หรือภาพผู้ล่วงลับ มายังพระ แล้วทอดผ้าให้ท่านพิจารณาเปรียบเสมือนสมัยพุทธกาลที่ชาวบ้านทิ้งผ้าไว้ตามป่าช้า เป็นผ้าที่เขาแขวนไว้บ้าง หรือเป็นผ้าของคนที่เสียชีวิตแล้วบ้าง บทสวดมนต์ที่นำมาสวดพิจารณาผ้าบังสุกุล จึงเกี่ยวกับความไม่เที่ยงของสังขาร (อะนิจจา วะตะ สังขารา) ๓. #พระสงฆ์บนเสลี่ยง อ่านคำภีร์ซึ่งถือเป็นจารึกธรรมอันสูงสุดทางศาสนา เรียกว่า พระอภิธัมมัตถสังคหะ หรือพระอภิธัม ๗ คำภีร์บ้าง ๔. #หม้อไฟ เป็นหม้อดินเผาสำหรับใส่เชื้อไฟนำไปใช้ที่ป่าช้า ๕. #ถุงข้าวด่วน แสดงถึงความห่วงใยของผู้อยู่เบื้องหลังให้ผู้ตายได้มีเสบียงไปใช้ในปรโลก ถุงข้าวด่านส่วนมากจะบรรจุข้าวปลาอาหาร ผลไม้และหมากเมี่ยง อยู่ในลักษณะที่พร้อมจะรับประทานได้ ๖. #สามเณรบวชจูงศพ ทางคติล้านนานิยมบวชหน้าศพเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลแด่ผู้ที่มีพระคุณและจูงศพไปสู่สุสาน การบวชนี้เรียกว่า “บวชจูง” ผู้บวชจะจูงฝ้ายซึ่งเป็นฝ้ายดิบจำนวน ๙ ห่วง ผูกโยงสลับกันไปแล้วนำไปโยงกับฝาโลงด้านปลายเท้า ฝ้าย ๙ ห่วงนี้เปรียบถึงการเปล่งวาจาถึงพระพุทธเจ้า ๓ ครั้ง พระธรรม ๓ ครั้ง พระสงฆ์ ๓ ครั้ง อันเป็นไตรสรณคมน์ ใช้เป็นเครื่องจูงไปสู่ปรโลกซึ่งเป็นสุคติภูมิ บางท่านก็คิดว่าหมายถึง สายญาติ คือตนเองอยู่ตรงกลางและนับย้อนไปข้างหลัง ๔ ชั่งอายุคนและนับลูกหลานที่จะอยู่ต่อไปภายหน้าอีก ๔ ชั่วอายุคน ๗. #ปราสาทศพ (รูปทรงนี้) เรียกว่า “ปราสาทปากกะบาน” ไม่มียอดเหมือนปราสาทศพ ที่ใช้สำหรับเจ้านาย หรือพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ รอบๆปราสาทนี้มีขันเงินใส่ดอกไม้อันเป็นลักษณะการตกแต่งที่นิยมกันมาก่อน พ.ศ.๒๕๐๐ สกุลช่างเชียงใหม่ ปราสาทตกแต่งด้วยกระดาษสาซึ่งเป็นวัสดุพื้นบ้านและลวดลายที่ใช้ประดับประดาเป็นลวดลายแบบเบ้าโบราณล้านนา ๘. #ดนตรีพื้นเมือง บรรเลงเพลงพื้นเมืองที่นิยมใช้ในงานส่งสการ เป็นต้นว่าเพลง"ผ๋าสาทไหว" ๙. พิธี #ผัดตาสิน คนเป็นเวียนขวา คนตายเวียนซ้าย นิยมให้ลูกหลานหรือผู้ที่ได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากผู้ตายเดินเวียนศพ ๓ รอบ อันถือเป็นการบูชาคุณงามความดี ๑๐. พิธี #หงมะนาว หรือการโปรยทาน เป็นการแสดงให้เห็นถึงการแบ่งบันและเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน เป็นหัวใจของวัฒนธรรมล้านนา ๑๑. #บอกไฟ (บ้องไฟ) ที่ใช้ในพิธีส่งสการ มีหลายชนิด ที่นิยมใช้กันมากก็มี บอกไฟหล่อ บอกไฟเทียน บอกไฟจักจ่า (จักจั่น) บอกไฟสะมะโป๊ก บอกไฟดาวและบอกไฟช้างร้อง บอกไฟช้างร้องจะมีเสียงแปลกพิเศษ ประดุจเสียงโสกาอาดูรของญาติพี่น้องที่อยู่เบื้องหลัง บอกไฟชนิดนี้นิยมใช้เฉพาะในงานพิธีส่งสการเท่านั้น คติในการจุดบอกไฟในการปลงศพ สันนิษฐานว่าใช้เพื่อช่วยยับยั้งอารมณ์โศกเศร้าก่อนที่จะมีการเผาศพ โดยผ่อนคลายให้เปลี่ยนไปสนใจกับเสียงของบอกไฟแทน ๑๒. #มะพร้าวหน้าไฟและบาตร ถือกันว่าน้ำมะพร้าวบริสุทธิ์สะอาดปราศจากธุลี เมื่อนำไปล้างสิ่งใดก็ทำให้บริสุทธิ์สะอาด บาตรบ่งบอกให้ทราบว่าผู้ตายเป็นผู้สนใจกับการถวายอาหารแด่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงถึงความใส่ใจในการทำทานไม่ตระหนี่เห็นแก่ตัว ๑๓. #เสลี่ยงเครื่องบูชาศพ มีตุง (ธง) ทำด้วยโลหะชนิดต่าง ๆ เช่นเหล็ก ทองแดง เรียกว่า “ตุงเหล็ก ตุงตอง” ชาวบ้านถือว่าวิญญาณจะจับหางตุงลอยขึ้นสู่สวรค์ บางท่านก็คิดว่า หมายถึงทางดี ทางชั่ว ๑๔. #ประการตามจำนวนของตุง ทางดีแปดทางคือ เห็นดี ดำริดี พุดดี การงานดี อาชีพดี เพียรพยายามดี ระลึกดี ตั้งใจดี ส่วนทางตรงข้ามกันที่เอ่ยมาแล้ว ตุงนี้เตือนใจให้ระลึกว่าถ้าเดินทางดีก็มีผลเป็นสุข ถ้าไม่ดีก็เป็นทุกข์ ๑๕. #ตุงสามหาง อันเป็นธงสัญลักษณ์ของงานศพ มีรูปร่างคล้ายคลึงกับรูปกายมนุษย์และมีชายตุงอยู่ ๓ ชาย ความหมายของตุง ๓ ชายนี้อาจหมายถึง ไตรวัฏฏ์ คือวงจรแห่งทุกข์ ความมิใช่ตัวตน (อนิจฺจตา ทุกฺขตา อนตฺตา) อันเป็นสามัญลักษณะ ตุงสามหางนี้ดั่งปริศนาธรรม ทั้งเป็นอุทาหรณ์ให้ได้คิดไปหลายอย่าง ผู้ถือตุงสามหางนิยมให้ผู้มีความฉลาดหลักแหลม มีศีล มีธรรม ❖ อนึ่งหากจะศึกษาอย่างละเอียดถ่องแท้เกี่ยวกับประเพณีพื้นบ้านของล้านนา ก็จะเห็นความแตกต่างหลากหลายกันไปบ้างตามหมู่บ้าน ตามอำเภอและตามจังหวัด หลังปี พ.ศ.๒๕๐๐ มาแล้วได้มีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับพิธีกรรมมากตามสมควร และในปัจจุบันก็มีชาวเหนือจำนวนไม่น้อยที่นิยมพิธีการปลงศพแบบที่ทำกันในเมืองหลวง แต่ทั้งนี้ก็พอสรุปได้ว่า ประเพณีล้านนานั้น เรียบง่ายและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างลึกซึ้ง ❖ #รวมรวมเรียบเรียง ดร.กตัญญู เรือนตุ่น มจร.วิทยาลัยสงฆ์นครลำปาง ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ #ทำขวัญนาคลำปาง #ทำขวัญบ่าวสาว #พิธีบวงสรวง #ตั้งศาลพระภูมิ #พิธีกรลำปาง #พิธีกรงานแต่งลำปาง #พิธีกรงานศพลำปาง #พิธีกรรมงานศพล้านนา #โฆษกพิธีกร #หนานเอ คนบ่เก่าเข้าบ่ต๋าน #หมายเรื่องเมืองพุทธ #ประเพณีล้านนา #สืบชะตาล้านนา #ศาสนพิธีกร 0931312128